วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Dubai : ดูไบ



เมื่อพูดถึงประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คนโดยทั่วไปมักจะนึกถึงดูไบเป็นอันดับแรก หลายคนคิดว่าดูไบนี่เองที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ หรือบางคนอาจจะคิดว่าดูไบเป็นชื่อประเทศเสียด้วยซ้ำ ซึ่งความจริงแล้วอาบูดาบีต่างหากที่เป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ดูไบซึ่งแม้จะเป็นเพียงรัฐเล็กๆกลับเป็นที่กล่าวขานถึงมากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่ใครๆจะรู้จักดูไบมากกว่าเมืองอื่นๆ
ดูไบเป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่หาได้ยากยิ่งในตะวันออกกลาง อาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างตะวันออกและตะวันตก ความเจริญก้าวหน้าที่ดูไบนำเสนอต่อชาวโลก อาจจะดูขัดกับภาพลักษณ์ของประเทศอาหรับมุสลิมโดยทั่วไป ภูมิภาคในตะวันออกกลางนี้เคยประสบแต่ความเงียบเหงาและซบเซา ถึงจะร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่กลับมีการพัฒนาตามโลกไปอย่างช้าๆ หากเปรียบเทียบกับดูไบ ที่พัฒนานำโลกไปอย่างรวดเร็ว สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดูไบสามารถมีชื่อเสียงติดอันดับของโลกในด้านต่างๆอยู่ตลอดเวลา เชื่อกันว่าเป็นเพราะ วิสัยทัศน์ของเจ้าผู้ครองนครเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ดูไบเจริญรุ่งเรืองในทุกๆด้าน การลงทุนสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญ และสนับสนุนนโยบายหลายอย่างที่เอื้อให้เกิดการลงทุนของนักลงทุนชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่องก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้ดูไบก้าวมาจนถึงทุกวันนี้
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้นเป็นประเทศยอดนิยมของชาวตะวันตกที่มักจะเดินทางมาลงทุนทำการค้าโดยเฉพาะดูไบ เนื่องจากมีกฎหมายหลายข้อที่สนับสนุนการลงทุนเป็นพิเศษ อาทิเช่น ไม่มีการเก็บภาษีรายได้ส่วนบุคคล หรือภาษีการค้าต่างๆ สามารถโอนเงินเข้าออกประเทศได้โดยเสรี หรือการเปิดเขตการค้าเสรีที่ทำให้ชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ 100 % นอกจากนั้นสภาพสังคมที่เปิดกว้างรับวัฒนธรรมชาติตะวันตกได้ไม่ต่างจากวัฒนธรรมของตนเองทำให้ ชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาหาโอกาสที่ดูไบเพิ่มขึ้นทุกปี
แต่ในขณะที่มีนักลงทุนชาวต่างชาตินิยมมาทำงาน หรือลงทุนในดูไบเป็นจำนวนมาก กลับมีชาวไทยจำนวนน้อยมากที่เข้ามาลงทุนทำธุรกิจที่ดูไบ ทั้งๆที่เมืองไทยเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวดูไบ รวมไปถึงอาหารไทย หรือสปาไทยที่เป็นที่นิยมอย่างมาก แต่โดยส่วนใหญ่แล้วร้านอาหารไทยหรือสปาไทยที่ดำเนินกิจการอยู่ในดูไบนั้น เจ้าของจะไม่ใช่ชาวไทย หรือแม้แต่ผู้ปรุงอาหารก็ไม่ใช่ชาวไทย จึงเกิดเป็นคำถามว่า เพราะเหตุผลใดชาวไทยจึงไม่นิยมมาทำธุรกิจที่ดูไบ
ดูไบนั้นมีส่วนแบ่งในธุรกิจภาคน้ำมันแค่ร้อยละ 3 ของประเทศเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะเป็นธุรกิจการท่องเที่ยว การขนส่ง การค้าระหว่างประเทศ การก่อสร้าง และการบริการภาคการเงิน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวนั้น ถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของภาคเศรษฐกิจของดูไบเลยทีเดียว มีการคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 11.2 ล้านคนภายปี 2012 ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นของภาครัฐที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกๆด้าน เช่น สร้างระบบสินค้าปลอดภาษี เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลก เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาชั้นนำของโลก เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นตัวที่ดึงดูดให้ผู้คนมาที่ดูไบเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงมีการก่อสร้างโรงแรมและการสร้างงานในธุรกิจบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นี่อาจจะเป็นโอกาสหนึ่งของคนไทยที่จะเข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจนี้ นอกเหนือจากการลงทุนในธุรกิจประเภทอื่นๆเช่น โรงพยาบาล บริษัทรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น นอกจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นแล้ว ชาวดูไบเองก็มีอัตราการใช้จ่ายต่อวันต่อคนประมาณ 27 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2008) ซึ่งจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในอัตราการใช้จ่ายเงินที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกทีเดียว
นอกจากนั้นดูไบยังถูกจัดเป็นเมืองที่แพงที่สุดของโลกอันดับที่ 52 (ปี 2008) โดยพิจารณาจาก
- มูลค่าของสกุลเงิน
- ความมั่นในของผู้บริโภค
- การลงทุน
- อัตราดอกเบี้ย
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของสกุลเงินในประเทศ
- ราคาอสังหาริมทรัพย์
ส่วนในเรื่องของการเงินนั้น ดูไบพยายามที่จะเป็นฐานของตลาดการเงินโลก จะเห็นได้จากการที่ดูไบมีบริษัทที่อยู่ในสถาบันการเงินและธนาคารชั้นนำของโลกมากกว่า 600 บริษัท และจากการจัดอันดับของ London’s Global Financial Centre Index (GFCI) เมื่อปี2008 ดูไบอยู่ใน อันดับที่ 24 ของตลาดการเงินโลก และเป็นอันดับ 1 ของเมืองที่นักธุรกิจทั่วโลกสนใจที่เข้ามาทำธุรกิจด้วย ทำให้ภาคการเงินของดูไบเข้มแข็งมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆกลุ่มประเทศตะวันออกกลางด้วยกัน
ด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งถือเป็นประตูการค้าของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ ปี 2541 โดย 8 เดือนแรกของปี 2551 (ม.ค.-ส.ค) มีมูลค่าส่งออกจากไทยไปตะวันออกกลางจำนวน 6,504 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 33.6% ขณะที่มูลค่านำเข้าจากตะวันออกกลางมีจำนวน 20,567 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 75.3% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าน้ำมัน โดยเป้าหมายของประเทศไทยที่จะขยายมูลค่าการส่งออกในปี 2552 ไปยังตะวันออกกลางมีจำนวน 11,090 ล้านดอลล่าร์สหรัฐขยายตัว 17.5% โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็น 5.9% จากสิ้นปี 2551 ที่คาดว่าส่วนแบ่งตลาดจะอยู่ที่ 5.5% และในอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ส่งออกอันดับที่ 5 ในภูมิภาคนี้
แม้ว่าดูไบจะออกกฎระเบียบต่างๆเพื่อดึงดูดใจให้นักลงทุนชาวต่างชาติ มาลงทุนมากขึ้นก็จริง แต่ก็ยังมีกฎระเบียบและข้อบังคับอีกหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เช่นการขอวีซ่าเข้าประเทศ การจดทะเบียนขออนุญาตจัดตั้งบริษัท และการที่
ต้องมีผู้สนับสนุนเป็นชาวพื้นเมืองในการจัดตั้งบริษัท หรือการเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับโดยมิได้แจ้งล่วงหน้า เป็นต้น แต่หากมีการศึกษาข้อมูลทุกด้านอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว เชื่อว่ายังมีโอกาสเปิดกว้างให้กับผู้ที่สนใจจะมาลงทุนทำธุรกิจที่นี่อย่างแน่นอน รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงจุดนี้จึงได้พยายามส่งเสริมด้านข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นในการทำธุรกิจที่ดูไบเพื่อให้นักธุรกิจไทยที่สนใจที่จะเปิดกิจการที่ดูไบ หรือนักธุรกิจชาวดูไบที่สนใจจะลงทุนทำธุรกิจที่เมืองไทยได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็นและ โอกาสในการดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายโดยผ่านสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ หรือ ผ่านสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ ที่พร้อมจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจที่จะทำธุรกิจที่ดูไบ

ขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่   http://www.thaiconsulate.ae/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น